ขั้นตอนการจัดตั้งสหกรณ์นิคม
ขั้นตอนในการดำเนินการจัดตั้งนิคมสหกรณ์
การจัดที่ดินในรูปนิคมสหกรณ์
(1) การจัดหาที่ดิน
กรมส่งเสริมสหกรณ์ จะขอรับที่ดินที่รัฐได้จำแนกออกมาเป็นพื้นที่เกษตรกรรมจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ ซึ่งการที่จะขอรับที่ดินแปลงใดมาจัดสรรนั้น ต้องคำนึงถึงพื้นที่ที่มีจำนวนมากพอสมควร ที่ดินที่มีความสมบูรณ์พอที่จะปรับปรุงให้เหมาะสมแก่การทำการเพาะปลูกโดยจะจัดทำโครงการจัดนิคมสหกรณ์เสนอขอรับที่ดินจากคณะกรรมการจัดที่ดินแห่งชาติ เมื่อได้รับอนุมัติแล้ว จะต้องดำเนินการออกพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ในพื้นที่แปลงนั้น
(2) การออกพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์
เมื่อกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีนโยบายให้กรมส่งเสริมสหกรณ์จัดที่ดินนิคมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ดำเนินการประสานงานกับส่วนราชการอื่นที่ดูแลที่ดินของทางราชการที่จัดนิคมสหกรณ์ และหน่วยงานนั้นได้ยินยอมมอบที่ดินให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำไปจัดตั้งนิคมสหกรณ์ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ต้องเสนอพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาและลงมติเห็นชอบให้กรมส่งเสริมสหกรณ์นำที่ดินมาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์จะต้องกำหนดท้องที่ตำบล อำเภอ จังหวัด และจำนวนเนื้อที่ที่จัดตั้งนิคมสหกรณ์ และมีแผนที่กำหนดแนวเขตที่ดินท้ายพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสหกรณ์นั้นด้วย
(3) การสำรวจและการจัดทำแผนที่วงรอบกำหนดแนวเขตที่ดินของนิคมสหกรณ์
เมื่อได้มีพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสหกรณ์แล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องดำเนินการสำรวจ รังวัด กำหนดแนวเขตที่ดินของนิคมสหกรณ์ เพื่อให้ทราบแนวเขตที่ดินของนิคมสหกรณ์ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ว่ามีแนวเขตที่ดินอยู่ที่จุดใดและตั้งแต่ที่ใดถึงที่ใดเป็นไปตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์หรือไม่ เพื่อสะดวกในการจัดสมาชิกนิคมสหกรณ์เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและตามพระราชกฤษฎีกาการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ให้ทำการจัดนิคมสหกรณ์ได้เป็นไปโดยถูกต้องและเกิดประโยชน์แก่การจัดนิคมสหกรณ์ของกรมส่งเสริมสหกรณ์ และเกิดประโยชน์แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ ถ้าตรวจสอบข้อเท็จจริงปรากฏว่าเนื้อที่ดินที่มีอยู่ตามความจริงไม่ถูกต้องตามพระราชกฤษฎีการการจัดตั้งนิคมสหกรณ์ กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องดำเนินการแก้ไขโดยวิธีหนึ่งวิธีใดให้ถูกต้องตามความเป็นจริงและถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะไม่ให้เกิดปัญหาในการจัดนิคมสหกรณ์ต่อไป
(4) การสำรวจแบ่งแปลงที่ดิน
เมื่อกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้จัดทำการรังวัดกำหนดแนวเขตที่ดินของนิคมสหกรณ์ให้ถูกต้องตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์แล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องทำการสำรวจ รังวัด และทำแผนที่ จัดแบ่งแปลงพื้นที่ในเขตนิคมสหกรณ์ เพื่อกำหนดให้สมาชิกนิคมสหกรณ์เข้าทำประโยชน์ การจัดรังวัดทำแผนที่แบ่งแปลง เพื่อให้สมาชิกนิคมสหกรณ์เข้าทำประโยชน์นั้น กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามความเป็นจริงกับที่ดินของนิคมสหกรณ์ที่มีอยู่และแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์ได้กำหดไว้ เพื่อป้องกันปัญหาการครอบครองหรือการเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของสมาชิกนิคมสหกรณ์ มิให้ซ้ำซ้อนในที่ดินแปลงเดียวกัน
กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องดำเนินการจัดทำแผนผังแบ่งที่ดินซึ่งแสดงเขตที่ดินที่จัดแบ่งให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ไว้ในแผนผังจัดแบ่งที่ดินสหกรณ์ และต้องทำประกาศแผนผังการจัดที่ดินนิคมสหกรณ์ไว้ ณ ที่ทำการนิคมสหกรณ์
การวางผังและการพัฒนาที่ดิน การจัดสรรที่ดินให้กับราษฎร โดยวิธีการสหกรณ์ได้เน้นการใช้ประโยชน์ในที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและการประกอบอาชีพการเกษตร การวางผังการใช้ที่ดิน การปรับปรุงและการพัฒนาที่ดิน และการวางแผนการประกอบการเกษตร จึงถือเป็นเรื่องสำคัญ เช่น การกำหนดเขตชุมชนอยู่อาศัย การกำหนดเขตเกษตรกรรม การแบ่งแปลงที่ดิน การจัดสร้างปัจจัยอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐาน เช่น ถนน ระบบชลประทาน โรงเรียน สถานีอนามัยและอื่น ๆ การศึกษาผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาจัดสรรแบ่งแปลงที่ดินให้ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่ เพื่อให้มีรายได้พอแก่การครองชีพ เมื่อสมาชิกมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพ และสามารถเลี้ยงตนเองและครอบครัวได้ ก็จะเป็นการป้องกันสมาชิกนิคมสหกรณ์ไม่ให้ทิ้งที่ดินทำกินเขตนิคมสหกรณ์ไปประกอบอาชีพในที่แห่งอื่น ปัจจัยในการพัฒนาที่ดินและส่งเสริมการเลี้ยงชีพให้ถูกหลักการและวิชาการเป็นปัจจัยสำคัญที่ทางราชการจะต้องให้ความสนใจและให้การส่งเสริมมาก
(5) การจัดราษฎรเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์จะต้องจัดบุคคลเข้าทำประโยชน์ในที่ดินในเขตนิคมสหกรณ์ให้ถูกต้องตามจำนวนที่ดินที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งนิคมสหกรณ์และแผนที่แบ่งแปลงที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ประกาศไว้ และจะต้องจัดราษฎรที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์เท่าจำนวนที่ดินที่กำหนดไว้ในพระราชกฤษฎีกา ไม่จำเป็นต้องจัดให้หมดเนื้อที่
ราษฎรที่จะเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์จะต้องผ่านการคัดเลือกของคณะกรรมการ การคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ซึ่งประกอบด้วยกรรมการ 4 คน ตามคำสั่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ 454/2518 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ ลงวันที่ 9 ธันวาคม 2518 โดยแต่งตั้งนายอำเภอท้องที่ที่จัดตั้งนิคมสหกรณ์เป็นประธานกรรมการ นักวิชาการสหกรณ์หรือเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์แต่งตั้ง 2 คน เป็นกรรมการ หัวหน้าหน่วยนิคมสหกรณ์ที่ดำเนินการจัดนิคมสหกรณ์เป็นกรรมการและเลขานุการ
การกำหนดให้มีคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ เพื่อให้การคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์และเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์ บุคคลที่ได้รับการคัดเลือกจะต้องเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนดและคณะกรรกมารคัดเลือกจะต้องให้ความเป็นธรรมแก่บุคคลทุกคนที่สมัคร เพื่อจะได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์
สำหรับผู้ที่จะเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1) มีสัญชาติไทย
2) มีความประพฤติดีและเต็มใจปฏิบัติตามระเบียบที่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด
3) ขยันขันแข็ง มีร่างกายสมบูรณ์ และสามารถประกอบอาชีพได้
4) ไม่เป็นคนวิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
5) ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเองหรือมีแต่เพียงเล็กน้อย ไม่พอแก่การครองชีพ
6) มีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์
ผู้ได้รับการคัดเลือกเข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์และเข้าทำประโยชน์ที่ดินของนิคมสหกรณ์ได้ต่อเมื่อ
1) ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ให้เข้าทำประโยชน์ตามจำนวนที่ดินที่อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์กำหนด (ครอบครัวละไม่เกิน 50 ไร่)
2) ผู้ที่เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์และเข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์จะต้องดำเนินการรวมกันจัดตั้งสหกรณ์และจดทะเบียนมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ร่วมกันตามพระราชบัญญัติสหกรณ์
3) ต้องดำเนินธุรกิจตามวัตถุประสงค์ของสหกรณ์ที่ได้จัดตั้งขึ้น
(6) การจัดที่ดินเพื่อประโยชน์สาธารณะ
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของสมาชิกนิคมสหกรณ์หรือบุคคลทั่วไป กำหนดผังหมู่บ้าน ที่สาธารณประโยชน์ ที่สงวนไว้เพื่อประโยชน์ส่วนรวม เช่น โรงพยาบาล สถานีตำรวจ สถานีอนามัย โรงเรียน วัด เป็นต้น พร้อมกันที่ดินไว้เป็นป่าไม้ส่วนกลางเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดินเพื่ออนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธาร
(7) การส่งเสริมและพัฒนาปรับปรุงดิน
กรมส่งเสริมสหกรณ์จะพัฒนาปรับปรุงดินให้เหมาะแก่การอยู่อาศัยและประกอบอาชีพการเกษตร มีการจัดระบบชลประทาน เพื่อเน้นหนักในการใช้ที่ดินให้เกิดประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมกับส่งเสริมสหกรณ์ให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสหกรณ์ขึ้นโดยวิธีการสหกรณ์เป็นเครื่องมือช่วยเหลือ และแก้ไขปัญหาการประกอบอาชีพ และส่งเสริมสมาชิกนิคมสหกรณ์ประกอบอาชีพให้ถูกหลักวิชาการตลอดทั้งพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจและสังคมเพื่อยกระดับฐานะและความเป็นอยู่ในอยู่สมาชิกด้วยกันให้มีมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น
(8) การจัดปัจจัยพื้นฐาน
กรมส่งเสริมสหกรณ์จะก่อสร้างปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นต่าง ๆ ให้กับราษฎรในพื้นที่ ได้แก่ ถนน สะพาน ท่อลอด และพัฒนาแหล่งน้ำ เป็นต้น ตลอดทั้งการบำรุงรักษาให้อยู่ในสภาพที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการอยู่อาศัย และการใช้ที่ดิน รวมทั้งดำเนินการจัดสาธารณูปโภค โดยให้มีมาตรฐานเทียบได้กับชุมที่ใกล้เคียงที่ทางราชการจัดให้หรือตามสมควรแก่สภาพท้องที่นั้น ๆ โดยประสานงานกับส่วนราชการต่าง ๆ ในการบริการด้านสาธารณประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ หรือสมาชิกนิคมสหกรณ์ภายในเนื้อที่เขตจัดนิคมสหกรณ์
(9) การส่งเสริมสหกรณ์
สมาชิกนิคมสหกรณ์ที่ได้รับจัดสรรที่ดิน จะต้องรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์ซึ่งสหกรณ์จัดตั้งขึ้นจะเป็นสถาบันของสมาชิกในการดำเนินธุรกิจช่วยเหลือสมาชิกท้างก้านการผลิตและการตลาด ตลอดจนเป็นองค์กรท้องถิ่นรองรับการช่วยเหลือต่าง ๆ จากทางราชการไปสู่สมาชิกนิคมสหกรณ์
(10) การเรียกเก็บเงินค่าช่วยทุนรัฐบาล
สมาชินิคมสหกรณ์ที่ได้ทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์แล้ว เมื่อมีรายได้เพียงพอแก่การครองชีพของตนเองและครอบครัวแล้ว สมาชิกนิคมสหกรณ์จะต้องช่วยทุนของทางราชการที่ได้ลงทุนไปแล้ว เพื่อทางราชการจะนำเงินดังกล่าวไปปรับปรุงที่ดินของนิคมสหกรณ์ สำหรับอัตราค่าช่วยทุนนี้ถูกกำหนดโดยกรมส่งเสริมสหกรณ์ ดังนี้ ค่าช่วยทุนรัฐบาลไม่เกินไร่ละ 200 บาท โดยผ่อนชำระเป็นรายปีปีหนึ่งไม่น้อยกว่าร้อยละสิบ ทั้งนี้จะเริ่มชำระงวดแรกอย่างช้าในปีที่ 5 นับแต่ปีที่ได้เข้าเป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์ อย่างไรก็ตามหากปีใดสมาชิกไม่สามารถชำระค่าช่วยทุนดังกล่าวได้ โดยมีเหตุผลอันสมควร ให้สมาชิกนิคมสหกรณ์ทำเป็นหนังสือขอผ่อนผันต่ออธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อพิจารณาเหตุผลการขอผ่อนผัน เมื่ออธิบดีเห็นสมควร อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์จะผ่อนผันให้ชำระค่าช่วยทุนรัฐบาลในปีถัดไปก็ได้
(11) การออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์
กรมส่งเสริมสหกรณ์จะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้ดำเนินการดังต่อไปนี้
1) ได้ทำประโยชน์ในที่ดินแล้ว
2) เป็นสมาชิกนิคมสหกรณ์มาแล้วเป็นเวลาเกินกว่าห้าปี
3) ได้ชำระเงินช่วยทุนรัฐบาลที่ได้ลงไปแล้ว และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมสหกรณ์ให้แก่ทางราชการเรียบร้อยแล้ว
เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้ดำเนินการตามข้อ 1 – 3 เรียบร้อยแล้ว กรมส่งเสริมสหกรณ์ก็จะออกหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (กสน.5) ให้แก่สมาชิกนิคมสหกรณ์ ซึ่งเป็นหนังสือแสดงว่าสมาชิกผู้นั้นได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินของนิคมสหกรณ์
(12) การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดิน
เมื่อสมาชิกนิคมสหกรณ์ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์จากกรมส่งเสริมสหกรณ์แล้ว และต้องได้รับความเห็นชอบจากสหกรณ์นิคมให้นำไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์หรือโฉนดที่ดินในนิคมสหกรณ์ตามประมวลกฎหมายที่ดิน แล้วจึงขอยื่นคำร้องขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดหรือสำนักงานที่ดินจังหวัดสาขาหรือสำนักงานที่ดินอำเภอแล้วแต่กรณี ก็จะดำเนินการออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้กับสมาชิกนิคมสหกรณ์ตามประมวลกฎหมายที่ดินต่อไป
สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพะเยา
เลขที่ 679 ถนนพหลโยธิน ตำบลเวียง อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา 56000
โทรศัพท์ 054 - 482 355 โทรสาร 054 - 482 354
อีเมล์
สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สำนักงานสหกรณ์จังหวัดพะเยา
Copyright © 2023 PHAYAO PRIVINCIAL COOPERATIVE OFFICE
ภาพประกอบเว็บไซต์โดย freepik.com , pixabay.com , flaticon.com